สาระน่ารู้
  • 10 เม.ย. 2566
 29,057

กิจกรรมประเพณีการทำบุญในวันสงกรานต์

วันสงกรานต์ นั้นถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงามฝังลึกอยู่ในชีวิตของคนไทย ซึ่งวันสงกรานต์นั้นตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี โดยทั่วไปแล้ว กิจกรรมในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์นั้น คนไทยนิยมเล่นน้ำ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระวันสงกรานต์ ใครที่อยู่ห่างไกลครอบครัว ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อฉลองวันปีใหม่ไทย รวมถึงกล่าวคำอวยพร "สุขสันต์วันสงกรานต์" และ "สวัสดีวันสงกรานต์" ให้แก่กัน สามารถสรุปประเพณีสำคัญ ๆ ที่นิยมทำกันในช่วงสงกรานต์ได้ ดังนี้

 

 

กิจกรรมในวันสงกรานต์


UploadImage
การทำบุญตักบาตร

ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า ในสมัยโบราณ เมื่อถึงวันสงกรานต์ประชาชนจะพากันตื่นแต่เช้ามืด เตรียมหุงข้าวต้มแกง เพื่อนำไปทำบุญที่วัด โดยนำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ


UploadImage

การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ 

เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน หากทำกันเองในบ้าน ลูกหลานจะเชิญพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ มานั่งในที่ที่จัดไว้ แล้วนำน้ำอบน้ำหอมผสมน้ำมารดให้ท่าน ในระหว่างที่รดน้ำท่านก็ให้พรแก่ลูกหลาน เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว การรดน้ำส่วนใหญ่จะรดที่มือ ขอศีลขอพร เป็นการแสดงความเคารพผู้มีอาวุโสและผู้มีพระคุณตามธรรมเนียมอันดีของไทย  ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามที่ควรช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้


UploadImage

การสรงน้ำพระ

ตามความเชื่อโบราณ การสรงน้ำพระเป็นการแสดงให้เห็นถึง การเคารพและสักการะต่อ พระพุทธศาสนาครบทั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นการเริ่มต้นสิ่งที่เป็นมงคลในวันปีใหม่ด้วย จะทำให้เกิดความสุขความร่มเย็นตลอดปีใหม่ ขณะเดียวกันยังมีความเชื่อว่า การสรงน้ำพระพุทธรูปเป็นการทำความสะอาดพระที่ตลอดทั้งปีเราได้กราบไหว้ ขณะที่การสรงน้ำพระสงฆ์เป็นการช่วยให้ท่านเย็นสบายในช่วงฤดูร้อนที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปีด้วย


UploadImage

บังสุกุลอัฐิ 

เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว มักจะทำในวันใดวันนึงของช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือทำวันเดียวกับวันที่สรงน้ำพระ โดยหากเก็บรักษาอัฐิไว้ในบ้าน ก็จะนิมนต์พระมาบังสุกุลที่บ้าน หรือใช้วิธีนำอัฐิไปรวมกันที่วัดและให้พระทำพิธี

 

UploadImage

การก่อเจดีย์ทราย 

เป็นการนำทรายมาก่อเป็นรูปร่างคล้ายเจดีย์ และประดับด้วยดอกไม้ต่างๆ ตามคติโบราณได้อธิบายไว้ว่าเมื่อคนเดินเข้าวัดและเดินออกไป จะมีเศษดินทรายติดฝ่าเท้าออกไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่อยู่ในพื้นที่วัด ถือเป็นสมบัติของพระศาสนา ในทุกๆ ปี จึงมีการจัดกิจกรรมประเพณีก่อเจดีย์ทรายในช่วงสงกรานต์ 

 

การขนทรายเข้าวัด 

ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางที่ เชื่อว่าตลอดปี การนำทรายที่ติดเท้าออกวัด เป็นบาป เมื่อหลังจากการก่อเจดีย์ทราบเสร็จแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมงานจะช่วยกันขนทรายไปยังบริเวณวัด เตรียมสำหรับใช้บูรณปฏิสังขรณ์สิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณวัด ถือเป็นการสะสมบุญกุศลอีกรูปแบบหนึ่ง


UploadImage

การปล่อยนกปล่อยปลา

เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ที่นิยมทำในวันสงกรานต์ ซึ่งมีประวัติเล็กน้อย คือ ก่อนหน้าวันสงกรานต์เป็นหน้าแล้งอากาศร้อนจัดน้ำแห้งขอดขาดตอนเป็นห้วงๆ คงเหลือแต่ที่มีแอ่งและหนองน้ำ ปลาก็ตกคลัก อีกไม่ช้าพอน้ำแห้งหมด ปลาเหล่านั้นก็จะต้องตาย ชาวบ้านจึงพากันไปจับปลาที่ตกคลัก ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อได้หนังอะไรก็เลี้ยงไว้ในตุ่มเอาบุญ แล้วนำไปปล่อยในวันสงกรานต์ จึงเกิดเป็นประเพณีปล่อยปลา และลามมาถึงปล่อยนกด้วย

 

สหกรณ์ฯ ร่วมสุขสันต์วันปีใหม่ไทยนี้ หากท่านใดที่เตรียมเดินทาง ก็ขอให้ท่องเที่ยวด้วยความระมัดระวัง ทั้งสภาพอากาศในช่วงหน้าร้อน และโรคระบาดโควิด-19 แม้ความกังวลจะลดลง แต่อย่าชะล่าใจ เพื่อลดความเสี่ยงขอให้ทุกท่านระมัดระวัง ล้างมือบ่อย ๆ และใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปบริเวณผู้คนหนาแน่น รวมทั้งเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านและครอบครัว

 

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก :
travel.trueid.net/
sanook.com/wikipedia/กระทรวงวัฒนธรรม/springnews